ปัญหาหนึ่งของคนที่ขายรถมือสองและมักใช้วิธีการโอนลอย คือ ขายรถไปแล้วเป็นปี แต่คนซื้อไม่ยอมโอนสักที ทำให้เรากลัวว่าจะเจ้าของรถคนใหม่จะเอารถไปทำเรื่องผิดกฎหมาย วุ่นวายเรื่องคดี สืบสาวหลักฐานกันไม่รู้จบ ใครเจอปัญหาขายรถไปแล้วคนซื้อไม่ยอมโอน ยังไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร มาดูวิธีกันเลย
การโอนลอยคืออะไร
เวลาที่เราจะซื้อ-ขายรถมือสอง เราคงได้ยินคำว่า “โอนลอย” อยู่บ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า การโอนลอยแท้ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ และแตกต่างจากการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยทั่วไปอย่างไรบ้าง
การโอนลอย คือ การเซ็นสัญญาโอนรถให้แก่ผู้ซื้อ แต่ยังไม่ได้ระบุชื่อผู้ซื้อที่แน่นอน โดยที่ผู้ขายไม่ต้องไปทำเรื่องที่กรมการขนส่งทางบกเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขายให้แก่เต็นท์รถมือสอง โดยจะโอนเป็นชื่อผู้ซื้อก็ต่อเมื่อมีคนมาซื้อแล้วเท่านั้น แต่หากว่ายังขายไม่ได้ ก็ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายนั่นเอง
ข้อดีของการโอนลอย คือ สะดวก ไม่เสียเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์และใช้เวลาเป็นวันในการดำเนินการ ทำให้หลายคนเลือกใช้วิธีโอนลอยแทน
อย่างไรก็ตาม การโอนลอยก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี เพราะมีข้อเสียคือ ในทางกฎหมายแล้ว กรรมสิทธิ์รถยนต์ยังเป็นของเราอยู่ หากว่าขายรถไปแล้ว คนซื้อไม่ยอมโอน เมื่อมีคนขับรถเราไปทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการชนแล้วหนี หรือขนของผิดกฎหมาย เราอาจจะเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความดังกล่าวในฐานะเจ้าของรถยนต์ ซึ่งส่งผลเสียและเกิดความยุ่งยากตามมา นอกจากนี้หากว่ามีผู้เสียหายอันเนื่องมาจากรถยนต์คันดังกล่าวที่เราได้ขายไปแล้ว ผู้เสียหายก็อาจจะฟ้องร้องเอากับเรา ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการรับผิดชอบความเสียหายนั้น ๆ เนื่องจากเป็นเจ้าของรถนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การโอนลอย แม้จะสะดวกสบาย แต่ก็ค่อนข้างมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อจึงควรระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต
ทำอย่างไร ถ้าขายรถไปแล้ว คนซื้อไม่ยอมโอนสักที
กรณีที่เราขายรถไปแล้ว แต่เนิ่นนานไปเป็นปี คนซื้อไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์เสียที จนทำให้เรารู้สึกหวั่นใจว่าจะนำรถไปทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือเกิดผลกระทบอะไรกับเราหรือเปล่า เรามีวิธีป้องกันปัญหามาฝากกัน
เก็บใบซื้อ-ขายเอาไว้ให้ดี
ทุกครั้งที่เราขายรถ หรือมีการโอนลอย ให้เราเก็บใบหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ หลักฐานยืนยันตัวตนของผู้ซื้อ และหลักฐานการรับเงินเอาไว้ให้ดี ๆ ทั้งตัวจริงและสำเนา เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานว่าเราได้ขายรถไปแล้ว แต่คนซื้อไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์
ใบซื้อขายหายไปแล้วทำอย่างไรดี
สำหรับผู้ที่ทำใบหลักฐานซื้อขายรถหายไปแล้ว แต่เมื่อไปตรวจสอบยังพบว่าคนซื้อยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อย ให้เรารีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยลงบันทึกประจำวันว่าเราได้ขายรถยนต์คันนี้ไปแล้วเป็นหลักฐานสำคัญ
พยายามติดต่อผู้ซื้อ เพื่อดำเนินการโอนให้เรียบร้อย
วิธีที่ดีที่สุดคือ การพยายามติดต่อผู้ซื้อ เพื่อดำเนินการโอนให้เรียบร้อย เพราะหากว่าปล่อยทิ้งเอาไว้นานไป นอกจากรถจะต่อทะเบียนไม่ได้ แถมยังเสี่ยงต่อความยุ่งยากต่าง ๆ ที่ตามมา นัดวันไปโอนกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อยจะได้สบายใจทั้งสองฝ่าย
แจ้งอายัดทะเบียนที่ขนส่ง
ในกรณีที่เราติดต่อผู้ซื้อไม่ได้ และมีใบสั่งมาที่บ้าน หรือเกรงว่ารถจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย สามารถไปแจ้งอายัดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก โดยนำใบแจ้งความและใบหลักฐานการซื้อขายไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการ
ถ้ามีปัญหาทาง กม. จะต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่ขายรถไปแล้ว คนซื้อไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์สักที แล้วมีใบสั่ง หรือมีหมายจับส่งมาที่บ้าน เพราะรถทำผิดกฎหมาย อย่าเพิ่งตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ให้เรานำใบหลักฐานการซื้อ-ขายรถยนต์ หรือใบบันทึกประจำวันที่เราได้ลงวันที่เอาไว้ไปแสดงเป็นหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ของเรา ซึ่งความยุ่งยากและซับซ้อนจะขึ้นอยู่กับคดีความดังกล่าว ยิ่งเป็นคดีร้ายแรง เราก็อาจจะต้องไปให้ปากคำหลายรอบจนกว่าคดีจะสิ้นสุดลง
การโอนลอยค่อนข้างมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เราต้องโทษคดีอาญา ตั้งแต่เรื่องทำผิดกฎจราจรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการนำรถไปทำผิดกฎหมายอย่างการขนสินค้าผิดกฎหมาย หากไม่จำเป็น ไม่แนะนำให้โอนลอยอย่างเด็ดขาด หรือหากโอนลอยเราก็ต้องเก็บเอกสารการซื้อขายเอาไว้อย่างดี เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาในอนาคต
ซื้อขายรถยนต์แบบไม่มีปัญหา ต้องซื้อขายผ่านเว็บซื้อขายรถมือสองที่ไว้ใจได้อย่าง JUST CAR เว็บขายรถยนต์มือสองที่ทุกคนวางใจ ไม่ต้องกังวลใจว่าจะเกิดเรื่องยุ่งยากตามมา การันตีความพึงพอใจ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ พร้อมให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน สอบถามเพิ่มเติมที่ 02-114-3928
ติดตาม JUSTCAR เพื่อรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : JUST CAR ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจรถมือสองครบวงจร
Instagram : JUSTCAR.Thailand
Youtube : @justcar.official
Tiktok : JUST.officialth
ขอขอบคุณข้อมูลจากแหล่งที่มา ดังนี้
- ส่องข้อควรระวัง “โอนลอย” ไม่โอนกรรมสิทธิ์ เสี่ยงติดคุกแทนคนอื่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/984720